คู่รักชาวออสเตรเลียของชายชาวอิรักในสถานกักกันผู้อพยพย้ายถิ่นคนหนึ่ง บอกว่า หากคนรักของเธอถูกส่งตัวกลับบ้านเกิด เธอจะเดินทางไปกับเขาเพื่อเผชิญหน้ากับความตายที่อาจเกิดขึ้นด้วยกัน
ฟิเนียส ฮาร์ทสัน (Phineas Hartson) ทนายความจากนครซิดนีย์ซึ่งเป็นหญิงข้ามเพศ พบกับ อับดุล (ไม่ใช่ชื่อจริง) ทางออนไลน์เมื่อปี 2015 อับดุลระบุว่าตนเองเป็นเกย์ และหนีออกจากอิรักเมื่อ 9 ปีก่อน หลังถูกโจมตีและทำร้ายจากเรื่องเพศสภาพ
ตอนนั้น เราทั้งสองไม่ได้มองหาเรื่องความรักเลย เราพบกันบนวิดีโอแชตแอปหนึ่ง ตอนที่อับดุลส่งข้อความทักทายไปเรื่อยเปื่อยมาหาฉันในมือถือ ฟิเนียสเล่า
6 ปีหลังจากนั้น มิตรภาพของทั้งสองก็ได้เบ่งบานจนกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง แต่พวกเขาไม่เคยได้พบเจอกันจริง ๆ
อับดุลบอกว่า การไม่ได้มีชีวิตอยู่กับคู่รักอย่างอิสระในออสเตรเลียเป็นเรื่องยากเย็น

Phineas Hartson is a lawyer based in Sydney. Source: Supplied/Phineas Hartson
มันแย่มาก ผมจินตนาการไม่ได้เลยว่าชีวิตที่นี่เป็นยังไง 9 ปีที่ต้องอยู่ในสถานกักกัน ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำผิดอะไร ทำไมน่ะเหรอ ก็เพราะผมมาที่นี่เพื่อปกป้องตัวเองในออสเตรเลีย แล้วพวกเขาก็จับผมเข้าไปอยู่ในสถานกักกันโดยไม่มีเหตุผล อับดุล เล่า
แทบเอาชีวิตไม่รอด
อับดุลเล่าว่า เขาหนีมาจากอิรักในปี 2012 หลังถูกจับได้ว่ามีความสัมพันธ์กับชายคนหนึ่ง ซึ่งมีพี่น้องอยู่ในกองกำลังติดอาวุธท้องถิ่น ผู้คน 5 คนจับตัวเขาไว้ จากนั้นก็ทุบตี และแทงเขา
หลังถูกกลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นไล่ออกจากบ้าน และทำให้เป็นที่ขายหน้าต่อชุมชนที่เขาอาศัย อับดุลเชื่อว่า เขาจะถูกสังหารในอีกไม่นานหลังจากนั้น
อับดุลหนีไปที่อินโดนีเซีย จากนั้นมุ่งหน้ามายังออสเตรเลียบนเรือลักลอบขนผู้อพยพ เรือของเขาถูกทางการออสเตรเลียสกัดไว้ได้ อับดุลถูกเจ้าหน้าที่ส่งตัวไปอยู่ที่เกาะคริสต์มาส (Christmas Island) ในเวลาต่อมา
หลังใช้เวลาอยู่ในสถานกักกันอีกแห่งที่อยู่นอกชายฝั่งออสเตรเลีย ในที่สุดอับดุลก็ถูกนำตัวส่งมาอยู่ในศูนย์กักกันผู้อพยพย้ายถิ่นบนแผ่นดินใหญ่
ชีวิตที่ถูกจองจำในสถานกักกันเริ่มส่งผลกับอับดุล เขาอดอาหารและพยายามทำร้ายตัวเอง เพื่อประท้วงการถูกจองจำ

Abdul has been in detention since 2012. Source: iStockphoto
ไม่มีใครแคร์ อับดุลเล่า
ฟิเนียสเริ่มเป็นห่วงว่า สุขภาพจิตที่แย่ลงของอับดุล อาจทำให้เขาเซ็นเอกสารที่อนุญาตให้เขาถูกส่งตัวกลับอิรักได้อย่างถูกกฎหมาย
แต่ถ้าหากว่าเขาทำเช่นนั้น ฟิเนียสบอกว่า เธอจะไปกับเขาด้วย แม้จะต้องพบกับอันตรายที่อาจรออยู่ข้างหน้าก็ตาม
ฉันจะตามคนรักของฉันไป และฉันไม่มีปัญหาอะไรที่จะเก็บกระเป๋าและติดตามผู้ชายที่ฉันรัก ฟิเนียส กล่าว
“เราทั้งสองกำลังพบเจอกับอันตราย การเป็นเกย์ หรือแม้กระทั่งถูกกล่าวหาว่าเป็นเกย์ในอิรัก เป็นเรื่องที่อันตรายถึงชีวิตในตอนนี้ มันเป็นสิ่งที่อันตราย”
ข้อมูลจากหน่วยงาน Human Dignity Trust ระบุว่า ประมวลกฎหมายอาญาของอิรัก “ไม่ได้ห้ามการมีความสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันอย่างชัดแจ้ง แต่อย่างไรก็ตาม มีรายงานจำนวนมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับการที่ผู้กระทำการนอกภาครัฐ สั่งประหารชายและหญิงจากความใกล้ชิดกับเพศเดียวกัน”
หน่วยงานมหาดไทยออสเตรเลียไม่มีความเห็นเป็นรายกรณี แต่โฆษกมหาดไทยได้ระบุในแถลงการณ์ว่า “ออสเตรเลียไม่ส่งบุคคลกลับไปยังสถานที่ซึ่งพวกเขาจะต้องพบกับการกดขี่ข่มเหง หรือเสี่ยงต่อการถูกทรมาน การปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี การลิดรอนชีวิตตามอำเภอใจ หรือการใช้โทษประหารชีวิต”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ครอบครัวบริบทใหม่ในออสเตรเลีย
พิสูจน์เพศสภาพ
แอลิสัน แบททิสสัน (Alison Battisson) ทนายความของอับดุล กล่าวว่า กรณีของเขา “เป็นเรื่องเลวร้าย” และเขาตกเป็นเหยื่อของความล่าช้าต่าง ๆ จากหน่วยงานมหาดไทยออสเตรเลีย
“เขาถูกส่งกลับมาออสเตรเลีย เพื่อให้มีที่ว่างสำหรับคนอื่นที่ถูกส่งตัวไปสถานกักกันนอกแผ่นดินใหญ่ในการประมวลเอกสาร จากนั้นก็มีช่วงหนึ่งที่ดูเหมือนว่า รัฐบาลไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรกับเขาดี เขาต้องใช้เวลาอยู่ในสถานคุมขังเป็นเวลา 3 ปีครึ่งถึงเกือบ 4 ปี โดยที่ไม่ได้รับคำเชิญให้ยื่นขอวีซ่า”
ตามนโยบายอพยพย้ายถิ่นของออสเตรเลีย ผู้ที่เดินทางมาถึงทางเรือจะต้องได้รับคำเชิญให้ยื่นขอวีซ่าคุ้มครอง (Protection Visa) เพื่อให้ได้รับสถานะผู้ลี้ภัย
แต่เมื่ออับดุลได้รับคำเชิญให้ยื่นขอวีซ่าคุ้มครอง คำขอของเขากลับถูกปฏิเสธ
ทนายแบททิสสัน เชื่อว่า การที่อับดุลไม่ได้รับคำเชิญให้ยื่นขอวีซ่าคุ้มครองอีกครั้ง เนื่องจากหน่วยงานมหาดไทยของออสเตรเลียไม่เชื่อว่าอับดุลเป็นเกย์ และอับดุลไม่ได้พูดถึงเรื่องเพศสภาพ เมื่อเขาเดินทางมาถึงสถานกักกันผู้อพยพย้ายถิ่นของออสเตรเลีย

แอลิสัน แบททิสสัน (Alison Battisson) ทนายความของอับดุล จาก Human Rights For All Source: Human Rights For All
“การกล่าวอ้างของเขา (เพื่อยื่นขอวีซ่าคุ้มครอง) อยู่บนพื้นฐานของการเป็นคนรักร่วมเพศ อย่างที่เห็นชัดก็คือ Queer และ Bisexual ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะประกาศให้คนรับรู้ เมื่อคุณลงจากเรือเมื่อมาถึงออสเตรเลีย” ทนายแบททิสสัน กล่าว
และเมื่อคุณติดอยู่ในศูนย์กักกันออสเตรเลีย รวมถึงบนเกาะนอกชายฝั่ง มันไม่มีเหตุผลอย่างมากที่จะคาดหวังให้ใครสักคนรู้สึกสบายใจที่จะเปิดเผยเพศสภาพ และด้วยเหตุนั้น การขอวีซ่าคุ้มครองของเขาก็ถูกปฏิเสธ และเขาก็ต้องถูกกักขังอยู่ในสถานกักกันอยู่ต่อไป ทนายแบททิสสัน กล่าว
ทนายแบททิสสัน กล่าวอีกว่า ลูกความของเธอได้ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัย โดยองค์การข่าวกรองและความมั่นคงของออสเตรเลีย (ASIO) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหน่วยงานมหาดไทยก็ได้รับทราบถึงกรณีของเขาแล้วเช่นกัน
โฆษกหน่วยงานมหาดไทยระบุว่า การยื่นขอการคุ้มครองทั้งหมดจะได้รับการประเมินเป็นรายบุคคล โดยจะพิจารณาจากสถานภาพ และเงื่อนไขในประเทศของผู้ยื่นขอการคุ้มครอง
เมื่อไม่ได้รับคำเชิญเพื่อยื่นขอวีซ่าคุ้มครอง นั่นหมายความว่า การเดินทางไปตั้งรกรากในประเทศที่ 3 ซึ่งไม่ใช่ทั้งอิรักหรือออสเตรเลีย ก็ทำไม่ได้เช่นกัน
โจ บอล (Joe Ball) ประธานบริหารของ สวิตช์บอร์ด ออสเตรเลีย (Switchboard Australia) องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ให้การสนับสนุนชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQA+) กล่าวว่า สมาชิกขององค์กรแห่งนี้ได้เข้าเยี่ยมผู้ถูกคุมขังที่มีความหลากหลายทางเพศ ในสถานกักกันผู้อพยพย้ายถิ่น
“เรื่องที่เราได้ยินจากผู้คนเหล่านี้ คือความหวังอันห่างไกลในการได้พิสูจน์เพศสภาพของพวกเขา"
มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างโหดร้าย ในการถูกถามเกี่ยวกับรายละเอียดลึก ๆ ของความสัมพันธ์ และการเข้าหาของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่เป็นไปในลักษณะของความกังขา แทนที่จะอยู่ในจุดที่ทำให้เรื่องกระจ่างชัดเจน คุณบอล กล่าว
ด้านทนายแบททิสสัน ไม่มีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับความจริงในเรื่องการกล่าวอ้างเพศสภาพ และความสัมพันธ์ของอับดุล เช่นเดียวกับฟีเนียส คนรักของเขา
“มันเป็นเรื่องที่เข้าถึงระดับส่วนตัว มันเป็นเรื่องส่วนตัวเกี่ยวกับเพศสภาพและอีกหลายสิ่ง เราได้แลกเปลี่ยนบางสิ่งที่มีแต่ชายที่เป็นเกย์เท่านั้นจะกระทำกับคนรักของเขา” ฟีเนียส กล่าว
ฉันรู้ว่าเขามีความสัตย์จริงในเพศสภาพและเพศวิธี ฉันเป็น Queer และ LGBTIQ มาตลอดชีวิต ฉันดูออกว่าคนไหนจริงหรือปลอม ฟิเนียส กล่าว
ส่วนความเชื่อใจที่อับดุลมีให้ต่อฟิเนียส ก็มีมากพอ ๆ กันกับเธอมีให้เขา
ผมรู้สึกว่าเธอรักผม เธอบอกว่า ถ้าผมต้องไปประเทศอื่น เธอก็จะไปกับผมด้วย อับดุล กล่าว
ผู้มีความหลายหลายทางเพศ (LGBTIQA+) ที่ต้องการความช่วยเหลือ และการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต สามารถติดต่อ QLife ได้ที่หมายเลข 1800 184 527 หรือไปที่เว็บไซต์
ติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย

อุตสาหกรรมก่อสร้างยังมีทัศนคติที่ล้าหลังต่อพนักงาน LGBTIQ+